#ฉีดยารักษานิ้วล็อคได้ผลดีไม๊ เมื่อไหร่ถึงจะฉีดดี

โรคนิ้วล็อคเป็นโรคที่พบได้บ่อย คุณหมอวราห์ หมอกระดูก คลินิกกระดูกและข้อหมอวราห์หาดใหญ่
จะมาอธิบายเกี่ยวกับโรคเบื้องต้น และรายละเอียดในการรักษาด้วยการฉีดยารักษานิ้วล็อคว่าเมื่อไหร่จึงจะ
พิจารณาฉีดยา และขั้นตอนเป็นอย่างไรค่ะ 
 

โรคนิ้วล็อคเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยคนไข้ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้ว
เวลาขยับ อาการอาจเป็นมากหลังตื่นนอนตอนเช้าหรือใช้งาน ในระยะแรกผู้ป่วยจะมี
อาการปวดเพียงอย่างเดียว และในระยะต่อมาจะเริ่มมีอาการฝืด หรือรู้สึกขัดๆขณะเคลื่อนไหวนิ้ว
ในระยะสุดท้ายอาจมีอาการล็อคของนิ้วขณะงอ ร่วมกับเหยียดไม่ออก จนต้องใช้มืออีกข้างนึงมาช่วยเหยียดออก
 

การรักษาจะเริ่มจากการพักการใช้งาน แช่น้ำอุ่นและการกินยา ในรายที่ยังไม่ดีขึ้น
การฉีดยาบริเวณโคนนิ้วก็สามารถรักษาโรคนี้ได้ โดยยาที่ฉีดจะฉีดเพื่อลดอาการอักเสบ
ที่บริเวณเยื่อหุ้มเอ็น ซึ่งเมื่ออาการอักเสบลดลงแล้วอาการปวดและการเคลื่อนไหวจะดีขึ้น
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับการฉีดยาจะมีอาการดึขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ โดยกระบวนการฉีดยาหมอกระดูก
จะทำการทำความสะอาดผิวหนังบริเวณมือที่จะทำการฉีดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และฉีดยาชาที่ผสมกับ
ยาที่มีฤทธิ์ในการลดอาการอักเสบประมาณ 1-2 มล. 
 

อย่างไรก็ตามอาการนิ้วล็อคอาจกลับมาเป็นอีกได้หากยังมีการใช้งานนิ้วมือหนักๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา
ยาวนาน ซึ่งการฉีดยาสามารถทำซ้ำได้ แต่ส่วนใหญ่การฉีดยาในครั้งหลังๆ อาจไม่ได้ผลดีเท่ากับการฉีดยาครั้งแรก
นอกจากนี้การฉีดยาซ้ำหลายๆครั้งอาจทำให้เอ็นหรือปลอกหุ้มเอ็นบริเวณนั้นมีความแข็งแรงลดลง
ดังนั้นในรายที่กลับมาเป็นใหม่หลายๆรอบๆ อาจพิจารณาการรักษาขั้นต่อไปคือการผ่าตัด ซึ่งหมอวราห์จะมาอธิบาย
ต่อในบทความถัดไปครับ
 

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วราห์ ยืนยงวิวัฒน์